****วิธีเล่นนี้เป็นของ เฟสบุ้คคุณ Shollatis Busbong นะครับ ขออนุญาตนำมาลงครับ****


เป้าหมายของเกม
เมื่อเล่นเกมครบ 10 รอบ บ้านที่ครอบครองพื้นที่ที่มีปราสาทและฐานที่มั่นได้มากที่สุดเป็นฝ่ายชนะ หากในระหว่างเกมมีบ้านใดที่สามารถครอบครองพื้นที่ดังกล่าวได้ 7 แห่ง บ้านนั้นจะเป็นฝ่ายชนะทันที

การเซ็ตกระดาน
ผู้เล่นแต่ละฝ่าย เซ็ตอัพตามที่ระบุไว้ในฉากกั้นของตนเอง

ช่วงการวางแผน Planning Phase
เกมจะเริ่มจากช่วงการวางแผน ผู้เล่นแต่ละฝ่ายจะวางโทเคนคำสั่ง (Order Token) คว่ำไว้ในแต่ละพื้นที่ที่มียูนิตของตนเองวางอยู่ โดยยูนิตดังกล่าวมีทั้ง ทหารราบ อัศวิน เรือ และเครื่องยิงทำลายปราสาท
มีโทเคนคำสั่งที่ต่างกันอยู่ 5 แบบที่ผู้เล่นสามารถเลือกใช้ได้ นั่นคือ เดินทัพ (March Order Token) ตั้งรับ (Defense Order Token) กองหนุน (Support Order Token) จู่โจม (Raid Order Token) และรวบรวมกำลัง (Consolidate Power Order Token) บางโทเคนสามารถปรับเปลี่ยนค่าได้ ซึ่งมีผลต่อความแข็งแกร่งในการประลองของยูนิตในสนามรบ และยังมีโทเคนอื่นซึ่งมีคำสั่งที่มีอำนาจเหนือกว่านั้น โดยมีเครื่องหมายรูปดาวกำกับไว้ คำสั่งพิเศษเหล่านี้เป็นตัวแปรสร้างความแข็งแกร่งให้กับคำสั่งแต่ละประเภท จำนวนของคำสั่งพิเศษที่สามารถวางได้ในช่วงการวางแผน ถูกกำหนดไว้โดยตำแหน่งบน King’s Court Influence Track
คำสั่งเดินทัพ (March Order) แสดงถึงการเคลื่อนทัพของทหารและเรือข้ามเขตแดนหรือน่านน้ำต่าง ๆ ใน Westeros เพียงแค่กำหนดคำสั่งเดินทัพให้กับยูนิตที่อยู่บนกระดาน ก็ทำให้ผู้เล่นสามารถย้ายยูนิตข้ามแดนไปที่ใหม่ และเกิดการประลองขึ้นได้
คำสั่งป้องกัน (Defense Order) แสดงถึงความแข็งแกร่งในการป้องกัน มีไว้เพื่อเพิ่มค่าการป้องกันให้กับพื้นที่ของฝ่ายรับที่ตนเองต้องการ
คำสั่งกองหนุน (Support Order) แสดงถึงการเคลื่อนที่ไปร่วมรบในบริเวณที่ติดกัน ไม่เพียงแต่ผู้เล่นจะใช้กองหนุนกับทัพของตัวเองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นกองหนุนให้กองทัพของผู้เล่นอื่นที่อยู่ติดกันได้ นั่นทำให้คำสั่งกองหนุน เป็นคำสั่งที่ต้องใช้การเจรจาต่อรองระหว่างการเล่นเกมนี้
คำสั่งรวบรวมกำลัง (Consolidate Power Order) แสดงถึงความนิยมชมชอบจากคนในท้องถิ่น ข้าวของที่สั่งสมไว้ และการเก็บทรัพยากรในบริเวณที่ผู้เล่นครอบครองอยู่
คำสั่งจู่โจม (Raid Order) แสดงถึงการช่วงชิงออกคำสั่งในดินแดนของศัตรู คำสั่งนี้ใช้สำหรับเอาคำสั่งของศัตรูซึ่งได้แก่คำสั่งกองหนุน (Support Order) รวบรวมกำลัง (Consolidate Power Order) และคำสั่งจู่โจม (Raid Order) ออกไป
เมื่อได้วางโทเคนคำสั่งคว่ำไว้ครบแล้ว ผู้เล่นทุกคนจะหงายโทเคนเหล่านั้นพร้อมกันในช่วงการทำแอกชัน

ช่วงการทำแอกชัน (Action Phase)
ฝ่ายที่อยู่ในช่องแรกของ King’s Court Track สามารถใช้ความสามารถของอีกานำสาส์น เพื่อสลับคำสั่งที่ได้วางไปแล้ว เปลี่ยนกับคำสั่งที่เหลืออยู่ในมือ หรือเลือกที่จะเปิดดูการ์ด Wildling Attack ใบบนสุดในกองก็ได้ โดยหลังจากใช้ความสามารถดังกล่าวแล้ว เกมก็จะดำเนินไปตามลำดับปกติ
คำสั่งจู่โจม (Raid Order) จะถูกใช้เป็นอย่างแรก โดยทำทีละคำสั่งไล่เรียงไปตามลำดับที่ปรากฏอยู่ในช่อง Iron Throne Influence Track โดยหากใช้ในการยกเลิกคำสั่ง จะใช้ได้กับคำสั่งของผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ในพื้นที่ที่ติดกัน โดยสามารถยกเลิกคำสั่งกองหนุน (Support Order) คำสั่งรวบรวมกำลัง (Consolidate Power Order) หรือคำสั่งจู่โจม (Raid Order) ได้ (ไม่สามารถยกเลิกคำสั่งเดินทัพหรือคำสั่งตั้งรับได้)
ลำดับการออกคำสั่งต่อไป จะเป็นคำสั่งการเดินทัพ (March Order) ไล่เรียงไปทีละคำสั่งของแต่ละฝ่ายตามลำดับที่ปรากฏอยู่ในช่อง Iron Throne Influence Track หากมีการเดินทัพข้ามไปยังพื้นที่ที่ติดกัน จะต้องเหลือยูนิตเฝ้าพื้นที่เดิมไว้ 1 หน่วย แต่ผู้เล่นสามารถเดินทัพโดยไม่เหลือยูนิตเฝ้าไว้ได้ ด้วยการวางโทเคนกำลัง (Power Token) 1 อัน ซึ่งโดยปกติจะเอาไว้ใช้สำหรับการประมูลลำดับการครอบครองพื้นที่ต่าง ๆ บนกระดานเกม เมื่อวางโทเคนกำลังเฝ้าไว้แทนแล้ว ก็สามารถเดินทัพยูนิตที่ต้องการ ไปยังพื้นที่ที่อยู่ติดกันได้
เมื่อเดินทัพยูนิตไปยังพื้นที่ที่ติดกันแล้วพื้นที่นั้นมีปราสาทหรือฐานที่มั่นตั้งอยู่ ก็ให้เลื่อนตัวนับแต้มชัยชนะ (Victory Point) เพิ่มขึ้น 1 ช่อง เพื่อบอกว่าขณะนี้ผู้เล่นครองปราสาทหรือฐานที่มั่นกี่แห่งแล้ว
ผู้เล่นสามารถใช้คำสั่งเดินทัพ เพื่อเดินเรือออกจากท่า ไปยังน่านน้ำที่อยู่ติดกันได้
เมื่อแต่ละฝ่ายทำการเดินทัพครั้งแรกของตนเสร็จครบทุกฝ่ายแล้ว หากมีฝ่ายใดเหลือโทเคนคำสั่งเดินทัพอยู่บนกระดาน ก็ให้ทำคำสั่งไล่เรียงไปทีละฝ่าย ทีละคำสั่งตามลำดับเดิม จนกว่าจะครบทุกโทเคน
ผู้เล่นสามารถเดินทัพจากเกาะไปยังแผ่นดินใหญ่ได้ หากผู้เล่นมียูนิตที่เป็นเรือวางไว้ในน่านน้ำระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่นั้น ก่อให้เกิดเป็นสะพานข้ามไปได้
หากพื้นที่ที่ผู้เล่นเดินทัพข้ามไป มียูนิตของผู้เล่นอื่นวางไว้ก่อนแล้ว ก็จะเกิดการประลองกันขึ้นระหว่างสองฝ่ายนั้น

การประลอง Combat
เมื่อมีผู้เล่นเดินทัพข้ามไปยังพื้นที่ที่มียูนิตของผู้เล่นอื่นวางไว้อยู่ก่อนแล้ว จะเกิดการประลองกันขึ้นทันที และต้องหาผลการประลองทันทีก่อนที่จะมีการทำการเดินทัพถัดไป
การประลองจะเริ่มขึ้น โดยคู่ต่อสู้แต่ละฝ่ายจะร้องขอทหารกองหนุนจากพื้นที่ที่ติดกัน ผู้เล่นที่วางโทเคนกองหนุนไว้ในพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่ที่มีการประลองนั้น จะเลือกว่าตนจะเป็นกองหนุนให้กับฝ่ายใด
จากนั้นแต่ละฝ่ายจะคำนวณผลรวมค่าความแข็งแกร่งของยูนิตตนเอง เฉพาะยูนิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประลอง แต่ละยูนิตจะมีค่าความแข็งแกร่งแตกต่างกันไป
ทหารราบและเรือ มีค่าความแข็งแกร่งเท่ากับ 1 หน่วย
อัศวิน มีค่าความแข็งแกร่งเท่ากับ 2 หน่วย
เครื่องยิงทำลายปราสาท มีค่าความแข็งแกร่งเท่ากับ 4 หน่วย (เครื่องยิงทำลายปราสาท ใช้สำหรับทำลายปราสาทหรือฐานที่มั่นเท่านั้น)
ค่าความแข็งแกร่งของเครื่องยิงทำลายปราสาท จะไม่นำมาคิดหากตกเป็นฝ่ายตั้งรับ หรือเข้าโจมตีพื้นที่ที่ไม่มีปราสาทหรือฐานที่มั่น
คำสั่งตั้งรับในพื้นที่ที่เกิดการประลอง จะถูกเพิ่มเข้าไปในค่าความแข็งแกร่งของยูนิตฝ่ายตั้งรับ
เมื่อคำนวณค่าความแข็งแกร่งแล้ว แต่ละฝ่ายจะต้องเลือกการ์ดประจำเมืองของตนเอง 1 ใบ การ์ดเหล่านี้จะแสดงรูปตัวละคร พร้อมกับค่าความแข็งแกร่งของพวกเขาเพื่อใช้ในการประลองตรงมุมบนซ้าย
หากการ์ดประจำเมืองมีรูปดาบอยู่ด้านล่าง จะหมายถึงจำนวนยูนิตของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องถูกหยิบออกจากเกม หากผลรวมค่าความแข็งแกร่งของฝ่ายที่มีรูปดาบมีค่ามากกว่า (ปกติฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายนั้นต้องถอยร่นไปยังพื้นที่ที่ติดกัน)
หากฝ่ายที่ประลองกันฝ่ายใดถือโทเคนรูปดาบ (The Valyrian Steel Blade Token) อยู่ (เนื่องจากเขาอยู่ลำดับสูงสุดในช่อง Fiefdoms Influence Track) จะสามารถใช้เพิ่มค่าความแข็งแกร่งให้ยูนิตของตนเองได้ 1 หน่วย เมื่อใช้ดาบแล้วให้วางคว่ำไว้เพื่อแสดงว่าใช้แล้ว และจะหงายคืนเมื่อเริ่มเล่นในรอบต่อไป (ใช้ความสามารถของดาบได้รอบละ 1 ครั้ง)
เมื่อรวมค่าความแข็งแกร่งทุกอย่างแล้ว ฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ต้องถอยร่นยูนิตของตนออกไปยังพื้นที่ที่ติดกัน แล้วจับยูนิตเหล่านั้นวางตะแคงไว้ เพื่อแสดงว่าเป็นยูนิตที่พ่ายแพ้มา และไม่สามารถนำค่าความแข็งแกร่งของยูนิตที่ตะแคงอยู่มาคิดได้อีกในตานี้
โทเคนคำสั่งถัดไปที่จะออกคำสั่งก็คือ คำสั่งรวบรวมกำลัง (Consolidate Power Order) หากวางโทเคนคำสั่งรวบรวมกำลังไว้ที่ใด ก็จะได้รับโทเคนกำลัง (Power Token) 1 อัน และหากพื้นที่นั้นมีรูปคำสั่งรวบรวมกำลังรูปมงกุฏพิมพ์ไว้บนกระดาน ก็จะได้รับโทเคนกำลังเพิ่มอีก 1 อันด้วย
เมื่อทำคำสั่งรวบรวมกำลังครบทุกอันแล้ว ให้เอาโทเคนตั้งรับ และโทเคนกองหนุนออกจากกระดาน แล้วพลิกยูนิตที่ตะแคงอยู่กลับมาตั้งตรงเพื่อเล่นรอบต่อไป (ถ้ามี)
จากนั้นเลื่อนตัวนับรอบขึ้นไป 1 ช่อง

การ์ด Westeros
ทุก ๆ รอบที่เล่นหลังจากรอบแรก จะเริ่มเล่นด้วยการจั่วการ์ด 1 ใบจากแต่ละกองของสำรับ Westeros (รวมสามใบ) จากนั้นให้ทำตามคำสั่งบนการ์ดไปตามลำดับ
หากการ์ด Westeros สั่งให้ปรับทัพตามจำนวนเสบียง แต่ละฝ่ายต้องนับจำนวนเสบียงที่พิมพ์อยู่บนกระดาน ในพื้นที่ที่มียูนิตของตัวเองวางอยู่ จากนั้นปรับเปลี่ยนลำดับโทเคนเสบียงไปตามจำนวนรวมที่ได้
ตำแหน่งของช่องเสบียงจะเป็นตัวกำหนดขนาดของกองทัพที่ผู้เล่นนั้นสามารถมีได้บนกระดาน โดยพื้นที่ที่มีเพียงยูนิตเดียว จะไม่นับเป็นกองทัพ แต่กลุ่มใดที่มียูนิตตั้งแต่สองยูนิตขึ้นไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะถือว่าเป็นกองทัพ
หากผู้เล่นเสียจำนวนเสบียงไประหว่างการเล่นเกม การ์ด Westeros ใบต่อ ๆ ไปอาจทำให้ต้องปรับกำลังพลตามเสบียงที่เหลืออยู่
หากการ์ด Westeros สั่งให้ประมูลช่อง Influence ทั้งสามช่อง ก่อนอื่นให้เอาโทเคนของฝ่ายต่าง ๆ ออกไปจากทั้งสามช่องนั้นให้หมด แล้วทำการประมูลตำแหน่งที่ต้องการ โดยเริ่มจากช่อง Iron Throne Track
ผู้เล่นแต่ละคนจะประมูลโดยใช้โทเคนกำลังของตนที่มีอยู่ ใส่อุ้งมือแล้วกำเอาไว้ จากนั้นแบมือพร้อม ๆ กัน
ฝ่ายใดที่ประมูลด้วยจำนวนโทเคนกำลังมากที่สุด จะได้อยู่ช่องแรกของ Iron Throne Track
หากผลการประมูลเสมอกัน ผู้ตัดสินชี้ขาด คือผู้ที่ถือโทเคน Iron Throne เสมอ
หลังจากช่อง Iron Throne Influence Track ถูกประมูลครบแล้ว โทเคน Iron Throne จะถูกส่งต่อให้กับคนที่อยู่ในช่องแรก
จากนั้นทำการประมูลช่อง Fiefdoms ด้วยวิธีเดียวกัน
หลังจากช่อง Fiefdoms Influence Track ถูกประมูลครบแล้ว โทเคนรูปดาบจะถูกส่งต่อให้กับคนที่อยู่ในช่องแรก
สุดท้ายทำการประมูลช่อง King’s Court ด้วยวิธีเดียวกัน
หลังจากช่อง King’s Court Influence Track ถูกประมูลครบแล้ว โทเคนรูปอีกาจะถูกส่งต่อให้กับคนที่อยู่ในช่องแรก

Wildlings
การ์ดบางใบในสำรับ Westeros มีเครื่องหมาย Wildling กำกับไว้ ให้เลื่อน Wildling Token ไปทีละช่อง ตามจำนวนเครื่องหมาย Wildling ที่กำกับอยู่ หากเลื่อนมาถึงเลข 12 เมื่อไหร่ หรือการ์ด Wildlings Attack จากสำรับ Westeros ถูกจั่วขึ้นมาเมื่อไหร่ ผู้เล่นทุกคน (เรียกรวมกันว่า Night’s Watch) ต้องทำการรับมือกับการโจมตีของเหล่า Wildling ก่อน โดยการหยิบโทเคนกำลัง (Power Token) ขึ้นมากำไว้ แล้วแบมือพร้อมกัน โดยต้องมีผลรวมโทเคนกำลังของทุกคน มากกว่าตัวเลขที่ Wildling Token วางอยู่ เช่น หาก Wildling Token อยู่ที่เลข 2 เมื่อผู้เล่นทุกคนแบมือพร้อมกัน ต้องมีโทเคนกำลังรวมกันตั้งแต่ 2 อันขึ้นไป จึงจะชนะ เป็นต้น
หากฝ่าย Night’s Watch เป็นฝ่ายชนะ ให้เลื่อน Wildling Token มาไว้ที่ 0
หากฝ่าย Night’s Watch พ่ายแพ้ ให้เลื่อน Wildling Token ลงมา 2 ช่อง แต่ไม่เกิน 0
โทเคนกำลังทุกอันที่ใช้ประมูล จะต้องทิ้ง แล้วเก็บคืนกองกลาง
จากนั้นให้เปิดการ์ดใบบนสุดในสำรับ Wildlings หากฝ่าย Wildlings เป็นฝ่ายชนะ ให้ทำไปตามข้อความด้านบนของการ์ด แต่หากฝ่าย Night’s Watch เป็นฝ่ายชนะ ให้ทำไปตามข้อความด้านล่างของการ์ด
หากต้องเปรียบเทียบผลการประมูล แต่ปรากฏว่าประมูลเท่ากัน ให้คนที่ถือโทเคน Iron Throne เป็นผู้ตัดสินว่าใครเป็นฝ่ายประมูลน้อยกว่ากัน
หลังจากทำตามการ์ด Wildling แล้ว ถือว่าช่วงการ์ด Westeros สำหรับการเล่นรอบนี้เสร็จสิ้น ขั้นตอนการเล่นให้ย้อนกลับไปที่ช่วงการวางแผนต่อไป
หลังจากเล่นครบ 10 รอบ ฝ่ายที่ยึดครองปราสาทหรือฐานที่มั่นได้เยอะที่สุดเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม หากขณะเล่นเกมมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถยึดครองปราสาทหรือฐานที่มั่นได้ครบ 7 แห่งก่อน จะชนะทันที

การเกณฑ์กำลังพล (Mustering Unit)
เพื่อที่จะเป็นที่หนึ่งใน Westeros และได้ครองบัลลังก์ Iron Throne ผู้เล่นต่างต้องการที่จะแผ่ขยายกองกำลังออกไปให้มากที่สุด วิธีการเล่นที่จะได้ยูนิตใหม่ ๆ เข้ามาในกระดานคือการเกณฑ์กำลังพล (Mustering Unit) ในระหว่างช่วง Westeros
เมื่อมีการทำตามคำสั่งการเกณฑ์กำลังพล ผู้เล่นแต่ละคนจะเวียนกันเกณฑ์กำลังพลไปตามลำดับการเล่น โดยสามารถเกณฑ์กำลังพลใหม่ หรืออัพเกรดจากยูนิตเดิมในแต่ละพื้นที่ที่เขาครอบครองอยู่ ซึ่งมีปราสาทหรือฐานที่มั่นตั้งอยู่ได้
ปราสาทแต่ละหลังมีแต้มการเกณฑ์ 1 แต้ม ในขณะที่ฐานที่มั่นจะมีแต้มการเกณฑ์ 2 แต้ม
เมื่อทำการเกณฑ์กำลังพล สำหรับทหารราบหรือเรือจะใช้แต้มการเกณฑ์ 1 แต้ม ในขณะที่อัศวินหรือเครื่องยิงทำลายใช้แต้มการเกณฑ์ 2 แต้ม
ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะอัพเกรดทหารราบที่มีอยู่ ไปเป็นอัศวิน หรือเครื่องยิงทำลายก็ได้โดยใช้แต้มการเกณฑ์ 1 แต้ม
ผู้เล่นไม่สามารถเกณฑ์กำลังพลได้เกินกว่าที่ระบุไว้ในกองเสบียงบนกระดานได้
เรือไม่สามารถถูกเกณฑ์บนพื้นที่ที่เป็นพื้นดินได้ แต่สามารถเกณฑ์เรือได้จากพื้นที่ที่เป็นทะเลที่ติดกัน ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ทะเลที่ผู้เล่นครองอยู่ หรือเป็นพื้นที่ทะเลที่ยังไม่มีใครครองก็ได้ (จะเป็นทะเลที่ติดกัน หรือท่าเรือที่ติดกันก็ได้)
การเกณฑ์กำลังพล จะเวียนกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกณฑ์ครบทุกแห่ง โดยไม่ขัดกับจำนวนกองเสบียงที่กำหนด